ไม่รู้ว่าใครชอบเหมือนสุ่ยหลินหรือป่าวนะคะ สุ่ยหลินชอบบ้านเก่าๆ มากๆ เลยไม่ว่าของจีนของไทยชอบหมด เพราะว่าบ้านเก่าๆ พวกนี้ บอกเล่าอะไรหลายๆ อย่างผ่านกาลเวลา ผ่านร้อนผ่านหนาว บอกถึงวัฒนธรรม ความเชื่อประเพณีและอะไรอีกเยอะแยะเลยนะ
ที่สำคัญพอเวลาผ่านไป บ้านเก่าๆ เหล่านี้ ก็หาอีกไม่ได้แล้ว ช่างฝีมือเก่งๆ เทคนิคสมัยนั้นก็ล้มหายตายจากกันไปหมด หรือไม่ก็ไม่มีใครคิดจะสร้าง คิดจะทำแบบนี้อีก
สิ่งทีเหลืออยู่ก็เหลือเพียงความทรงจำ ให้เรามองย้อนไปถึงอดีตอันรุ่งเรืองที่เคยมีค่ะ
วันนี้มีรูปบ้านเก่าของจีนสุดสวยมาฝาก แต่ละพื้นที่ก็มีวัฒนธรรมไม่เหมือนกัน ภูมิอากาศภูมิประเทศก็ไม่เหมือนกัน ทำให้สร้างคนละสไตล์สร้างคนละแบบกัน
อันดับแรก 四合院 [sìhéyuàn]
สุ่ยหลินขอส่งเข้าประกวดเองคือ 四合院 [sìhéyuàn] บ้านเก่าสไตล์ปักกิ่งโบราณ ของแท้ต้องอยู่ในตรอกที่เรียกว่า 胡同 [hútòng] คำนี้เป็นภาษาถิ่นปักกิ่งนะคะ แปลว่าตรอกหรือซอย เซี่ยงไฮ้เรียกตรอกว่า 弄 [lòng] แทน
สังเกตเห็นป่าวคะทำไมต้องมีคำว่า 四 = 4 นะ
ก็เพราะบ้านสไตล์นี้ดั้งเดิมเป็นบ้านชั้นเดียว 4 หลังหันหน้าเข้าหากันค่ะ เชื่อมด้วยสวนตรงกลางบ้าน ( 合 = เชื่อม 院 = สวน) เหล่าซือเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนคนปักกิ่งอยู่กันแบบนี้หมด ถ้าเป็นคนธรรมดา 四合院 หนึ่งชุด (เรียกว่าอะไรหว่า?) ก็มีหลายๆ ครอบครัวอยู่ด้วยกัน
แต่ถ้าเป็นคนรวยก็อยู่กันครอบครัวเดียว ตำแหน่งที่สำคัญที่สุดคือที่อยู่ของเจ้าของบ้าน จะอยู่ทางทิศตะวันออก และด้วยเหตุนี้เองคำว่าเจ้าของบ้านในภาษาจีน 房东[fángdōng] จึงมีคำว่า 东[dōng] ทิศตะวันออกรวมอยู่ด้วย ส่วนที่เหลือจะเป็นห้องของเมียรองๆ หรือลูกๆ เจ้าของบ้านไป ยิ่งถ้าเป็นขุนนางมีตำแหน่งใหญ่โต 四合院 ก็ยิ่งใหญ่อลังการสวยงาม แต่จะสร้างเป็น pattern แบบนี้หมดนะ คือ 4 หลังหันหน้าเข้าหากัน
ปัจจุบัน 四合院 หาไม่ค่อยได้ล่ะ โดนรื้อไปสร้างคอนโดหมด ก็ไม่ต่างอะไรกับเมืองไทยนะคะ ที่เหลือไว้คือรัฐบาลอนุรักษ์ไว้ไม่ให้รื้อ ใครไปเที่ยวปักกิ่งอย่าลืมแวะนะคะ^^
อันดับสอง 吊脚楼 [Diàojiǎolóu]
คนจีนเรียกบ้านแบบนี้ว่า 吊脚楼 [Diàojiǎolóu] สุ่ยหลินชอบมากๆ เลยค่ะ ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านท่านปรมาจารย์ในยุทธภพ ที่พระเอกจะเก่งได้ต้องดั้นด้นไปเสาะหาอาจารย์มาสอนเคล็ดวิชาให้ มโนเอาว่าบ้านท่านปรมาจารย์ก็คงหน้าตาประมาณนี้ล่ะนะ
บ้านแถบนี้เป็นสถาปัตยกรรมแถวหูหนาน กุ้ยโจว กวางสี เป็นบ้านของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ เช่น 土家 [Tǔjiā] , 苗 [Miáo], 侗 [Dòng], 布依 [Bùyī] จะสร้างตามริมน้ำตกหรือไม่ก็ริมภูเขาสูง จุดเด่นก็คือยกพื้นสูงปริ๊ด นัยว่าป้องกันสัตว์ร้ายและแมลง
ตัวบ้านแบ่งเป็น 2 ส่วนคือข้างหน้ากับข้างหลัง ส่วนที่อยู่อาศัยคือข้างหลัง ถึงแม้ว่าบ้านที่สร้างตามเทือกเขา ไหล่เขา ริมแม่น้ำนี้ เอาจริงๆ คือไม่เหมาะกับการสร้างบ้านด้วยภูมิประเทศไม่อำนวย แต่ด้วยภูมิปัญญาปราชญ์ชาวบ้านก็สามารถสร้างให้ทนชื้นและระบายอากาศได้ดีทดแทนข้อด้อยนี้ไป สวยมากๆ เลยนะคะ ว่าไหม?
อันดับ 3 福建土楼 [Fújiàn Tǔlóu]
สุ่ยหลินก็ว่าน่าทึ่งมว๊ากกก คือ 福建土楼 [Fújiàn Tǔlóu] ตามชื่อเลยอยู่ที่ฝูเจี้ยน สังเกตชื่อ 土楼 (土= ดิน 楼= ตึก) ก็คือบ้านที่สร้างมาจากดินนั่นเองค่ะ
เค้าว่าที่มาของบ้านแบบนี้ เริ่มมาจากคนที่อพยพหนีภัยธรรมชาติมา จนมาปักหลักที่ภูเขาฝูเจี้ยน จังหวัดกว่างตง แล้วก็สร้างบ้านเหมือนป้อมปราการขึ้นมาตามรูป บ้านแบบป้อมนี้มีข้อดีทั้งป้องกันภัยธรรมชาติและก็ป้องกันศัตรูผู้รุกรานได้ด้วย บ้านวงๆ (บางทีเป็นสี่เหลี่ยม) หนึ่งสูง 3-5 ชั้นสามารถจุคนได้ถึง 200-800 คน!!
เป็นไงกันบ้างเอ่ย ชอบหรือป่าวคะ จริงๆ บ้านไทยโบราณก็สวยไม่แพ้กันเลยค่ะ เห็นแล้วก็ทึ่งที่คนสมัยก่อนเค้าก็สามารถทำกันได้ ทั้งที่เครื่องมือทุ่นแรงอะไรก็ไม่ทันสมัยเหมือนยุคนี้เลยนะ
ไว้ติดตามตอน 2 เรื่องบ้านโบราณต่อนะคะ สุ่ยหลินขอเวลาหาข้อมูลอีกแพร๊บ
สุ่ยหลิน^^
Story: culture in art/ culture insider
Images: cn.hujiang & zh.wikipedia.org/wiki