เวลามีถูกเชิญไปเป็นแขกกินโต๊ะจีน สุ่ยหลินคิดว่าหลายคนอาจจะรู้สึกอึกอักๆ นิดหน่อยกลัวว่าจะทำอะไรเปิ่นๆ หรือป่าว สุ่ยหลินเองตอนอยู่เมืองไทยก็เคยกินโต๊ะจีน (โต๊ะแชร์) บ้าง อาศัยว่าเราเป็นเด็ก (ตอนนู้น) ทำอะไรก็ไม่ผิดเนอะ แต่พอไปเรียนเมืองจีนจริงๆ เค้าเชิญไป ตอนนั้นก็ไม่เด็กแล้วค่า จะทำอะไรก็ต้องดูทิศทางลมด้วย กลัวจะหน้าแตก เดวจะขายหน้าประเทศชาติและเจ้าภาพ ><‘
เลยสรุปมาเล่าสู่กันฟังนะจ๊ะ อันนี้ต้องบอกก่อนเลยว่าแต่ละพื้นที่ของจีนก็อาจมีธรรมเนียมปฏิบัติที่แตกต่างกันออกไป อันนี้เป็นกฏ กติกา มารยาทสากลอันกลางๆ ซึ่งภาษาจีนเรียก 中国礼节(zhōng guó lǐ jié) = ธรรมเนียมมารยาทจีน
ติดตามกันเลยน้า
ข้อ 1. นั่งตรงไหนดี?
เมื่อไปถึงร้านอาหารหลายคนคงงงว่าจะนั่งตรงไหนดี เป็นช่วงกระอักกระอ่วนอยู่สักพัก อึกๆ อักๆ ยึก ๆ ยักๆ
มันมีสูตรแบบนี้ค่า
ปกติโต๊ะจีนมักจะเป็นโต๊ะกลม จำง่ายๆ ได้เลยค่ะว่าเจ้าภาพหรือแขกที่อาวุโสสูงสุดในโต๊ะ (ทั้งอายุและหน้าที่การงาน) จะนั่งตรงข้ามกับประตูเสมอ เหตุผลเพื่อจะได้เห็นว่าแขกคนไหนเพิ่งมา จะได้ไปรับรองได้ (อย่าเผลอแย่งที่นั่งนี้นะตะเอ๊ง)
ส่วนแขกที่อาวุโสเป็นลำดับ 2 จะนั่งทางขวามือของเจ้าภาพ (หรือแขกที่อาวุโสสูงสุด) แขกที่อาวุโสเป็นลำดับ 3 จะนั่งทางซ้ายมือของเจ้าภาพ
โดยปกติแล้วเจ้าภาพจะให้แขกนั่งก่อนค่ะ ฉะนั้นไปถึงโต๊ะแล้วถ้าเป็นแขกละก็เตรียมนั่งก่อนได้เลยค่ะ แต่ถ้างง ไม่รู้นั่งไหนดี รอให้คนอื่นนั่งลงก่อนแล้วถามเจ้าภาพได้เลย ดีกว่านั่งผิดน้า
ข้อ 2. สั่งอาหารยังไงดี?
โต๊ะจีนทั้งหมดจะเป็นการแชร์อาหารกันตรงกลางแบบที่ทุกคนคุ้นเคยนะคะ ปกติเจ้าภาพจะสั่งอาหารเอง บางครั้งหากต้องการเอาใจแขก เจ้าภาพจะสั่งเอง 2-3 จานแล้วแล้วที่เหลือให้แขกเป็นคนเลือก ถ้าหากเจ้าภาพให้เราเลือกอาหารให้พยายามดูว่าคนอื่นสั่งอะไร จะได้ไม่สั่งซ้ำค่ะ
ควรสั่งอาหารให้หลากหลาย ที่สำคัญนิยมสั่งอาหารทั้งหมดเป็น “เลขคู่” เพราะหากเป็นเลขคี่จะหมายถึงมื้ออาหารในงานศพ (อันนี้บางคนถือ บางคนไม่ถือ) หรือถ้าไม่สะดวกใจสั่งก็บอกว่า 什么都可以 (Shénme dōu kěyǐ)= อะไรก้อกินได้ ก็ได้ค่ะแล้วคืนเมนูเค้าไป เค้าจะได้ให้คนอื่นเลือกแทน
3. รินชา/แสดงความขอบคุณ เจี๊ยก!ทำแบบไหนดี?
น้ำชาเป็นเครื่องดื่มหลักบนโต๊ะจีนนะคะ น้ำอื่นๆ เก๊กฮวย โค้กอะไรพวกนี้ไม่ใช่ธรรมเนียมจีนแท้แต่โบราณ เพิ่งมาทีหลัง
ตามธรรมเนียมแล้วผู้อาวุโสน้อยที่สุดมักจะรินชาให้กับทุกคน เล็งก่อนเลยใช่เราไหม? ถ้าไม่ใช่ก็ผ่านจ้า ถ้าใช่มาดูวิธีกัน
มีวิธีการรินชาให้ถูกธรรมเนียมค่ะ ทำง่ายๆ โดยจับหูกาด้วยมือขวาและใช้มือซ้ายประคองฝาการะหว่างริน นอกจากเพื่อแสดงความเคารพแล้ว ยังป้องกันไม่ให้ฝากาหล่นลงมาด้วย
ถ้าชาหมดกา ให้เปิดฝากาไว้ครึ่งๆ วางไปบนกา เพื่อให้พนักงานเสริฟเห็นแล้วมาเติมชาได้ อย่าเอาฝากาวางบนโต๊ะห่างออกจากตัวกาเพราะเชื่อกันว่าจะโชคร้ายค่ะ (เค้าว่างั้นนะ)
สำหรับการแสดงความขอบคุณเมื่อคนอื่นมารินชาให้เรา ควรจะกล่าวขอบคุณด้วยว่า 谢谢 (xièxie)แต่ถ้าในกรณีที่บทสนทนาติดพัน กำลังเคี้ยวกับข้าวอยู่ เดวกระเด็น ฯลฯ ก็สามารถใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางสองนิ้วติดกัน เคาะเบาๆ บนโต๊ะ ข้างๆ ถ้วยชาที่มีคนรินให้ เป็นการแสดงความขอบคุณค่า
4. ใช้ตะเกียบยังไงให้ถูก?
ตะเกียบถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการกินของจีนนะคะ ตั้งแต่ภัตตาคารสุดหรูไปจนถึงร้านข้างถนนทุกร้าน ต้องใช้ตะเกียบทั้งนั้น คนรวย คนจน ทุกคนเท่าเทียมกันคือใช้ตะเกียบคีบอาหารเหมือนกันหมด
เพราะตะเกียบเกี่ยวพันกับชีวิตคนจีนแบบนี้นี่เอง เราจึงต้องให้ความสำคัญกับตะเกียบกันหน่อย มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ตะเกียบดังนี้ค่ะ
- อย่าทำตะเกียบหล่นบนโต๊ะอาหาร เพราะดูเหมือนเราไม่มีมารยาท
- อย่าส่งอาหารจากตะเกียบสู่ตะเกียบ หากจะคีบอาหารให้คนอื่น ก็คีบแล้ววางบนจานนะคะ
- เล็งอาหารก่อนคีบ อย่ายื่นตะเกียบไปลังเลว่าจะคีบอะไรดี มันทำให้คนอื่นเสียจังหวะรู้มั๊ย
- อย่าใช้ตะเกียบชี้ไปที่คนอื่นเพราะเหมือนชี้หน้าด่า เพราะคนจีนเชื่อว่าตะเกียบเทียบเท่ากับนิ้วของเรา
- อย่าปักตะเกียบคู่ตั้งเด่บนชามข้าว เพราะมีรูปร่างคล้ายกระถางธูปซึ่งคล้ายกับวิธีตั้งโต๊ะเซ่นผู้เสียชีวิต
- อย่าเคาะตะเกียบบนชามข้าว เพราะว่าคนที่ทำแบบนั้นคือขอทานที่เคาะเพื่อขอเงิน
5. จะเริ่มกินเมื่อไหร่ดี?
ตามธรรมเนียมแล้วควรรอให้ผู้อาวุโสสูงสุดเริ่มกินก่อน จากนั้นจึงหมุนไปรอบโต๊ะๆ เพื่อให้คนอื่นได้กินค่า อย่ารีบร้อนเปิดฟลอร์เป็นคนแรกนะคะ
แล้วก็อย่าตักอาหารคำใหญ่มาก เพราะว่าทุกคนในโต๊ะได้มีโอกาสกินอาหารจานนั้นอย่างทั่วถึง
ระหว่างกินอาหาร หากมีใครคีบกับข้าววางไว้บนจานเรา นั่นหมายถึงว่าเขาให้เกียรติ สิ่งที่ควรทำคือ กินเข้าไปแล้วบอกว่าอร่อยมาก! (ถึงแม้ไม่อร่อยก็ตาม—เมื้อกี้ชั้นกินตัวอะไรลงไปปป กรี๊ดดดด!)
6. วิธีกินปลาให้ถูก?
ปลา (鱼) เป็นอาหารที่ต้อง “มี” บนโต๊ะจีนเพราะคำว่า “ปลา” พ้องเสียงกับคำว่า “เหลือกินเหลือใช้” “年年有鱼” (nián nián yǒu yú) “年年有余”(nián nián yǒu yú) หมายถึงทุกปีมีเหลือกินเหลือใช้ ดังนั้น คนจีนจึงนิยมสั่งอาหารจานปลาบนโต๊ะจีนทุกครั้ง เพื่อถือเคล็ดว่าเหลือกินเหลือใช้ทุกปีนั่นเองค่าา
สิ่งที่ไม่ควรทำเกี่ยวกับจานปลาคือ พลิก (กลับด้าน) ปลา ความเชื่อนี้เริ่มมาจากชาวประมงที่เชื่อว่าปลาคือเรือ การกลับด้านปลาอาจนำโชคร้ายมาเยือน ทำให้เรือพลิกคว่ำได้ วิธีการคือ ให้ใช้ตะเกียบเลาะกระดูกปลาออกแล้ววางกระดูกไว้ข้างๆ
ปอลิง ถ้าทำยากก็รอคนอื่นทำ แล้วเราค่อยรอกินค่าา (สุ่ยหลินทำแบบเนี้ย- อุ้ย รู้ความลับเบย)
7. แล้วใครจะจ่ายเงิน?
เรื่องนี้ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการรับเชิญไปโต๊ะจีนเลยนะ
เคยแปลกใจไหมคะว่าทำไมเวลาจะจ่ายเงินตามร้าน คนจีนจะต้องมีการยื้อแย่งกันจ่ายบิล จนเกิดเป็นสงครามย่อยๆ ต่อหน้าบ๋อยที่ทำหน้าเซ็งอยู่ (ประมาณว่าตรูเห็นมาเยอะล่ะ ไอ้แบบเนี้ย!)
เหตุผลเพราะเป็นธรรมเนียมค่ะ (จบข่าวม่ะ) วิธีการที่เหมาะสมและมีมารยาทคือแขกบอกเจ้าภาพว่าจะขอจ่ายแทน 2-3 ครั้ง (ตรงนี่แหละค่ะที่เขาจะยื้อแย่งกัน และเราควรเข้าไปยื้อแย่งด้วยเล็กน้อยแต่พองาม) แต่ในที่สุดแล้วเจ้าภาพก็จะเป็นคนจ่ายเองในที่สุดค่ะ ถือว่าแขกให้เกียรติเจ้าภาพว่าเชิญมาแล้วก็มีตังค์จ่ายนะยะเธอวว์
จบแร้ววววค่า หวังว่าคราวหน้าเราถูกเชิญไปกินโต๊ะจีน เราจะกินได้อย่างถูกต้อง มาดมั่น และมั่นใจนะคะ^^^
สุ่ยหลิน
Credit : Off The Great Wall, Invent China.org