4 คำง่ายๆ ใช้ให้เหมือนคนจีน

36908
SHARE

สวัสดีค่ะแฟนเพจที่น่ารักของสุ่ยหลิน^^ โพสนี้สุ่ยหลินอยากนำเสนอศัพท์ง่ายๆ ที่พวกเราต้องผ่านตากันมั่งแน่นอน แต่ด้วยความเคยชินที่เราเป็นคนไทย เวลาจะพูดก็แปลเป็นจีนในหัวแล้วเอื้อนทันที ว่าแต่ เอ…ศัพท์ก็ง่ายๆ นะ แต่ทำไมคนจีนฟังแล้วทำหน้างงๆ ล่ะ

ยกตัวอย่างแรกเลยนะ สมมติเราบอกเพื่อนคนจีนที่นัดกันไว้ล่วงหน้าว่า วันอาทิตย์นี้ดัน “มี” งานด่วน ต้องยกเลิกนัดไปก่อนล่ะ เราคนไทยก็ชอบพูดกันว่า 这个星期天我有工作。[Zhège xīngqítiān wǒ yǒu gōngzuò.] ประโยคนี้ผิดตรงไหน???? ถ้าไม่ผิด ทำไมคนจีนทำท่างง??? แถมบางคนยังมาทวนกับเราอีกทำนองว่า เหรอ เออ ดีใจด้วยนะ อะไรหว่า? เป็นเค้าที่ผิดหรือชั้นเองที่งง??

ติดตาม 4 คำศัพท์ที่เจอบ่อย คำง่ายๆ ใช้ให้ถูกเหมือนคนจีนใช้ ในโพสนี้กับสุ่ยหลินค่ะ^^

คำแรก ภาษาไทย: “มี” งาน  VS ภาษาจีน: “ต้อง” ทำงาน

อย่างที่สุ่ยหลินเกริ่นไปนะคะ สมมติว่าเราอยากจะพูดว่า “เสาร์นี้มีงาน ไปไม่ได้ล่ะ” คนไทยมักพูดว่า

这星期六有工作。不能去。ผิด
Zhè xīngqíliù yǒu gōngzuò. Bùnéng qù.

จริงๆ แล้วต้องพูดว่า

这星期六要工作。不能去。ถูก
Zhè xīngqíliù yào gōngzuò. Bùnéng qù.

เพราะอะไรอ่ะ??

ก็เพราะว่าคำว่า 有工作 ในความรู้สึกของคนจีนคือได้งานทำ เหมือนกับว่าเราตกงานมาก่อน 失业 [shīyè] แล้วก็ได้งานถึงเรียกว่า 有工作 ค่าาา ถ้ามีงานอยู่แล้วต้องไปทำงานต้องใช้ว่า 要工作 จึงจะเข้าใจตรงกันถูกต้องมากกว่านะจ๊ะ

 

คำที่ 2 ภาษาไทย: “กิน” น้ำแกง  VS ภาษาจีน: “ดื่ม” น้ำแกง

คำนี้สุ่ยหลินต้องเล่าก่อนว่าคนจีนโดยเฉพาะคนจีนทางใต้กินน้ำแกงกันเป็นจริงเป็นจังมาก เห็นจากหนังจีนหรือละครจีน เช่น ยามว่างก็กินน้ำแกงเป็นถ้วยๆ ถึงขั้นมีลำดับการกินว่าต้องเริ่มจากกินน้ำแกงให้เสร็จก่อน (เหมือนอาหารฝรั่งกินซุปก่อนประมาณนั้น) จากนั้นค่อยกินข้าว ในขณะที่คนไทยเรากินแกงจืดกับข้าวเสมอเนอะ คงมีน้อยคนที่อยู่ว่างๆ ก็เอาแกงจืดวุ้นเส้นมากินเล่นๆ ดังนั้นเมื่อเราจะพูดว่า “ลองกินน้ำแกงดูสิจ๊ะ” เราจึงชอบพูดกันว่า

吃汤ผิด
Qǐng chī tāng.

จริงๆ ต้องพูดว่า

喝汤ถูก
Qǐng hē tāng.

เพราะอะไรอ่ะ??

ก็เพราะว่าน้ำแกงในสายตาของคนจีนนั้นจริงๆ แล้วเคี่ยวเอาแต่น้ำซุปหอมๆ หวานๆ มาแล้ว เช่น เคี่ยวน้ำขาตั้ง(สะโพกกระดูกหมู เรียกคาตั้ง –แต้จิ๋ว) มาแล้วกรองเอากระดูก เนื้อ เครื่องปรุงอะไรๆ ออกไปให้ซดอย่างเดียว คนจีนจึงใช้คำว่า “ดื่ม” แทนคำว่า “กิน” ค่า ในขณะที่แกงจืดของคนไทยนั้น “ทรงเครื่อง” ดื่มไปอาจติดคอแอ้กได้ จึงใช้คำว่า “กิน” แทนงัยจ๊ะ

ถ้างั้นถามใหม่ว่าถ้าพูด 请吃汤。 คนจีนฟังออกมั๊ย?? ฟังออกค่าแต่ไม่ได้ถูกต้อง 100% แบบที่ภาษาจีนเค้าใช้กันนะ

 

คำที่ 3 ภาษาไทย: “ทำ” OT  VS ภาษาจีน: “เติม” งาน

ภาษาไทยเวลาบอกว่าต้องทำงานล่วงเวลา เราจะพูดว่า “วันนี้ต้องทำ OT” แบบนี้เนอะ ดังนั้นพวกเราเลยชอบแปลเป็นภาษาจีนว่า

今天我要做 OT
Jīntiān wǒ yào zuò OT.

จริงๆ ประโยคนี้ก็ไม่ผิดซะทีเดียวนะ แต่ถ้าคนจีนพูด เค้าจะพูดแบบนี้จ๊ะ

今天我要加班
Jīntiān wǒ yào jiābān.

เพราะอะไรอ่ะ??

ก็เพราะว่าเหตุผลที่ 1 คนจีนไม่นิยมทับเสียงภาษาอังกฤษ ดังนั้น OT เลยไม่ได้ใช้แพร่หลายมากเท่าไหร่ค่ะ ส่วนข้อ 2 คำว่า 加 = เติม และ 班= งาน คำว่า “เติมงาน (extra)” ในความหมายนี้เลยชัดเจนว่าคือทำ OT นั่นเองค่าา

 

คำที่ 4 ภาษาไทย: “ใส่/สวม” หมวก  VS ภาษาจีน: “ใส่” หมวก???!!!

ตรงนี้สุ่ยหลินต้องอธิบายนิดนึงก่อนปกติภาษาจีนมีคำแปลว่า “ใส่/สวม” ที่เราคุ้นเคยกันดี นั่นคือคำว่า 穿 [chuān] เช่น 穿衣服  [chuān yīfú] = ใส่เสื้อ  穿裙子 [chuān qúnzi] =  ใส่กระโปรง 穿鞋子 [chuān xiézi]= ใส่รองเท้า ฯลฯ

แต่ที่นี้เวลาเราจะพูดว่า “น่าจะต้องใส่หมวก” เราก็ชอบพูดกันว่า

你可能要穿帽子ผิดค่าา
Nǐ kěnéng yào chuān màozi.

ที่ถูกจะต้องพูดแบบนี้ค่ะ

你可能要戴帽子ถูก
Nǐ kěnéng yào dài màozi.

เพราะอะไรอ่ะ??

ก็เพราะว่าภาษาจีนมีคำกริยาอีกคำนึงคือ 戴 [dài] แปลเป็นไทยได้เหมือนกับ 穿 เด๊ะเลยคือ “สวม/ใส่” นะจ๊ะ แต่ว่าภาษาจีนเค้ามีการแบ่งค่า คำว่า 穿 เน้นว่าใช้กับของที่เราต้องสวมหรือใส่ ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเข้าไปข้างใน เช่น ใส่เสื้อ ใส่กระโปรง ใส่รองเท้า ส่วนอีกคำคือ 戴 ใช้กับอุปกรณ์การแต่งตัวที่ “วาง” ไว้บนตัว พูดง่ายๆ คือไม่มีการสอดส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายลงไปค่าา

ดังนั้น ถึงต้องใช้ว่า 戴帽子 [dài màozi] = ใส่หมวก 戴眼镜 [dài yǎnjìng] = ใส่แว่น 戴手表 [dài shǒubiǎo] = ใส่นาฬิกาข้อมือ 戴耳环 [dài ěrhuán] = ใส่ตุ้มหู เป็นต้น

คำพวกนี้สุ่ยหลินว่าพวกเรารู้จักกันอยู่แล้ว แต่บางทีพวกเราเองแม้แต่สุ่ยหลินเอง นึกจะพูดขึ้นมาก็ชอบแปลมาจากภาษาไทย พอแปลปั๊บ! บางทีใช้ได้ แต่บางทีก็เข้าข่ายพวกนี้ค่า ใช่ไม่ได้ ถามว่าคนจีนพอฟังเข้าใจมั๊ย?? พอเข้าใจค่าา เดาได้แน่นอน แต่ไม่เป็นภาษาจีนแบบเจ้าของภาษานะ

อยากจะเรียนภาษาจีนให้ได้อย่างเจ้าของภาษาต้องหมั่นสนใจว่าเค้าใช้ยังไงด้วยนะจ๊ะ^^

สุ่ยหลิน^^